วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

แทบเล็ต จินตนาการไร้ขีดจำกัด




แอพพลิเคชั่นในกลุ่มการศึกษา กำลังเป็นที่สนใจในมุมของนักพัฒนา ทันทีที่นโยบายรัฐบาลออกมาสนับสนุนให้เด็กไทยเข้าถึง "แทบเล็ต" อุปกรณ์เปลี่ยนโลกที่ไม่จัดกัดเพศและวัย นอกเหนือจากความบันเทิง เกมและแอพพลิเคชั่นอำนวยความสะดวกอื่นๆ ยังมีแอพพลิเคชั่นอะไรที่ควรบรรจุลงแทบเล็ตวัยเรียนกลุ่มนี้
         แอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับการศึกษาส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากแนวคิด "วิชวล เลิร์นนิ่ง" หรือการนำภาพและเพลง สื่อถึงการสัมผัสที่จะช่วยกระตุ้นจินตนาการและการจดจำ นักพัฒนาเชื่อว่าเนื้อหาการเรียนรู้จะฝังเข้าไปในระบบความจำของเด็กได้ดีกว่าการอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว
          "ห้องเรียนบนไอแพดทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อ โดยเฉพาะเด็กที่มีสมาธิอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ไม่นานนัก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันมีแอพการศึกษาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่แอพภาษาไทยยังมีอยู่อย่างจำกัด แต่ในอนาคตเป็นไปได้ว่าจะมีการแปลจากภาษาอังกฤษให้เป็นภาษาไทยมากขึ้นเช่นกัน" แพรวรพี สัตยานนท์ ผู้จัดการโครงการ Learning with iPad จากไอสตูดิโอ กล่าว

ห้องแล็บสามมิติ
          ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เป็นอีกหนึ่งกลุ่มแอพพลิเคชั่นในความสนใจของนักพัฒนา เช่น ไอเดียของบริษัท Emantras กับ Frog Dissection แอพสุดฮิตที่เปิดประสบการณ์ผ่ากบในรูปแบบ 3มิติบนไอแพด สิ่งที่เยาวชนได้จากแอพนี้ไม่ใช่ความสนุกสนานจากการเล่นเกม แต่เป็นความรู้ที่สัมผัสและเข้าใจได้ง่ายกว่าการอ่านตัวอักษรบนหน้ากระดาษ
          ความแตกต่างระหว่างกบกับคน วิธีการกิน สัมผัสพิเศษของกบ กับมุมมองภาพในแบบ 3 มิติ  นักเรียนสามารถลากนิ้วผ่านหน้าจอ เพื่อหมุนดูสรีระและอวัยวะภายในของกบได้ 360 องศา พร้อมด้วยวีดิโอวัฏจักรชีวิตของกบ ก่อนร่วมสัมผัสกับประสบการณ์ผ่ากบแบบสมจริง ตามกระบวนการจริงในห้องแล็บ เป็นสิ่งที่ดึงดูดให้การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เคยอยู่ในห้องเรียนเปลี่ยนแปลงไป
          นอกจากแอพผ่ากบบนไอแพดแล้ว Emantras ยังพัฒนาแอพการศึกษาที่น่าสนใจ เช่น Rat dissection แอพผ่าหนู  Cell and structure แอพ 3 มิติเรียนรู้โครงสร้างเซลล์ The element แอพเปลี่ยนตารางธาตุให้เข้าใจได้มากกว่าการท่องจำ
          แอพพลิเคชั่น "สตาร์วอร์ค" กำลังเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการดูดาวของผู้ที่หลงใหลในความเปลี่ยนบนท้องฟ้า จากแผนที่ดาวบนกระดาษมาเป็นแผนที่ดาวที่เชื่อมต่อกับจีพีเอสบนไอแพด 2 สามารถระบุตำแหน่งจริง ทิศทางและแจ้งความแตกต่างของท้องฟ้าในอีกซีกโลกหนึ่งได้อย่างที่แผนที่ดาวในรูปแบบปกติไม่สามารถทำมาก่อน
          แอพดังกล่าวยังให้รายละเอียดในส่วนของดาวเคราะห์ ดาวเทียม ค้นหาดาวเคราะห์ที่ต้องการ พร้อมให้ข้อมูลปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ดาวตก พระจันทร์เต็มดวง ดูพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก อีกทั้งดูได้ว่าตอนนี้โลกมองเห็นท้องฟ้าในรูปแบบไหน ด้วยคุณสมบัติของกล้องหลังของไอแพด 2 สามารถส่องดูพิกัดท้องฟ้าจริง วงโคจรของจักรวาลและดวงดาว

ติดเทคโนโลยีให้พิพิธภัณฑ์
          "เทคโนโลยีเปิดโอกาสให้ทำความเข้าใจเรื่ององค์ความรู้ใหม่ได้ง่ายขึ้น จากอดีตสื่อหนังสือเรียนเห็นภาพแค่มิติเดียว แต่การเห็นมิติที่มากขึ้น เห็นกลไก และกระบวนการจะทำให้การเรียนรู้เกิดได้ง่าย แม้ต้องแลกด้วยจินตนาการในเชิงการอ่านและสร้างภาพที่อาจจะลดลงไปบ้าง" กรรณิการ์ เฉิน ผู้อำนวยการกองข้อมูลวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าว
          จากเหตุผลดังกล่าว สิ่งที่ อพวช. มอง คือความพยายามที่จะผสมผสานเทคโนโลยี เข้ากับการให้ความรู้ในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในรูปแบบเดิม โดยอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกับนักวิชาการในมหาวิทยาลัยและศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เพื่อพัฒนารูปแบบการดูนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ ที่คนมักมองว่าน่าเบื่อให้เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัย โดยเริ่มนำแอพพลิเคชั่นเข้ามาเสริม
          แทบเล็ตเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของสื่อดิจิทัล ที่มาแทนที่เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ในอนาคตอาจได้เห็นโต๊ะเรียนไฮเทค ช่วยสร้างรูปแบบการเรียนรู้ในเรื่องที่สนใจได้มากขึ้น
          อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นของเทคโนโลยีอาจต้องมองถึงความเหมาะสมในการใช้งาน มากกว่าการที่เด็กจะต้องมีแทบเล็ตใช้แทนหนังสือเรียนกันทุก